แนวปฏิบัติในการลาพักการศึกษา

นิสิตที่มีความจําเป็นต้องลาพักการศึกษา ให้ศึกษา ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี พ.ศ. 2556 ข้อ 14 หรือ พ.ศ. 2565 หมวด 7 หรือ ข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2561 หมวด 9 และให้ปฏิบัติดังนี้

 

  1. กรอกคำร้อง Google Form หัวข้อ คําร้องขอลาพักการศึกษา (จท49)
  2. ยื่น จท49 พร้อมหลักฐานประกอบเหตุผลการขอลาพักการศึกษาที่ทะเบียนคณะ
  3. ชําระเงินค่ารักษาสถานภาพการเป็นนิสิต ผ่าน CUNEX Application ภายในสองสัปดาห์แรกของภาคการศึกษา (ระดับปริญญาตรี จำนวน 1,000 บาท และระดับบัณฑิตศึกษา จำนวน 5,000 บาท ต่อภาคการศึกษา) ยกเว้นกรณีที่นิสิตได้ชําระค่าเล่าเรียนในภาคการศึกษาที่ลาพักฯ นั้นไว้แล้ว
  4. กรณีที่นิสิตได้ชําระค่าเล่าเรียนในภาคการศึกษาที่จะลาพักฯ ไว้ล่วงหน้า แต่ได้ยื่นคําร้องขอลาพักฯ ที่คณะก่อนเปิดภาคเรียน นิสิตสามารถชําระเงินค่ารักษาสถานภาพการเป็นนิสิต และทําคําร้อง จท45 ขอคืนเงินค่าเล่าเรียนที่ชําระไปก่อนล่วงหน้านั้นได้ ทั้งนี้ไม่เกินสัปดาห์ที่หกของภาคการศึกษา
  5. นิสิตที่ไม่ได้ลงทะเบียนเรียน และต้องการลาพักการศึกษา ต้องยื่นขอลาพักฯ และชําระเงินค่ารักษาสถานภาพฯ ภายในสองสัปดาห์แรกของภาคการศึกษา มิฉะนั้นจะพ้นสถานภาพการเป็นนิสิตเนื่องจากไม่มาลงทะเบียนเรียนหรือไม่รักษาสถานภาพการเป็นนิสิต

 

การลาพักการศึกษา ต้องทำภายในวันสุดท้ายของการเรียนของแต่ละภาคการศึกษา (เฉพาะกรณีที่นิสิตลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษานั้นไว้)

 

การลาพักการศึกษา ระดับปริญญาตรี

ตามข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการศึกษาชั้นปริญญาตรี พ.ศ. 2556 หรือ พ.ศ. 2565

  • การขอลาพักการศึกษากระทำได้ครั้งละไม่เกิน 2 ภาคการศึกษาติดต่อกัน และหากมีความจำเป็นที่จะต้องขอลาพักการศึกษาต่อไป ให้ยื่นคำร้องใหม่ (ข้อ 14.3 หรือ ข้อ 56)
  • การลาพักการศึกษา กรณีถูกเกณฑ์หรือระดมเข้ารับราชการทหารกองประจําการ (ข้อ 14.1.1 หรือ ข้อ 54(1))และกรณีได้รับทุนแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างประเทศหรือทุนอื่นใดซึ่งเป็นประโยชน์ โดยตรงต่อการศึกษาระดับอุดมศึกษาของนิสิต (ข้อ 14.1.2 หรือ ข้อ 54(2)) นิสิตต้องแนบหลักฐานยื่นพร้อมคําร้องขอลาพักการศึกษา
  • การลาพักการศึกษาเพราะป่วย (ข้อ 14.1.3 หรือ ข้อ 54(3), (4)) นิสิตที่ป่วยจนต้องพักรักษาตัวเป็นเวลานานตามคําสั่งแพทย์เกินกว่าร้อยละ 20 ของเวลาเรียนทั้งหมด หรือเกินกว่า 3 สัปดาห์ ให้แนบหลักฐานคือ ใบรับรองแพทย์จากสถานพยาบาลของทางราชการ หรือสถานพยาบาลเอกชนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง หรือหน่วยงานภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีแพทย์ตรวจรักษาและสามารถออกใบรับรองแพทย์ได้
  • การลาพักการศึกษาเพราะมีความจําเป็นส่วนตัว (ข้อ 14.1.4 หรือ ข้อ 54(5)) ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารคณะ ในกรณีที่นิสิตเข้าศึกษาก่อนปีการศึกษา 2564 นิสิตต้องศึกษามาแล้วอย่างน้อย 1 ภาคการศึกษา
  • ให้นับระยะเวลาที่ลาพักอยู่ในระยะเวลาการศึกษาด้วย เว้นแต่นิสิตที่ได้รับอนุมัติให้ลาพักการศึกษาตามข้อ 14.1.1 หรือ ข้อ 54(1)

 

การลาพักการศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา

ตามข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ. 2561 หมวด 9 ระบุไว้ดังนี้

– นิสิตที่ประสงค์จะหยุดกิจกรรมด้านการศึกษากับมหาวิทยาลัยเป็นการชั่วคราว ให้ยื่นคำร้องขอลาพักการศึกษาต่อคณบดี พร้อมหลักฐานอื่นๆ ที่จำเป็น โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารหลักสูตร เว้นแต่เป็นการลาพักในระหว่างทำวิทยานิพนธ์ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารคณะ (ข้อ 105)

– การขอลาพักการศึกษากระทำได้ครั้งละไม่เกิน 2 ภาคการศึกษาติดต่อกัน และหากมีความจำเป็นที่จะต้องขอลาพักการศึกษาต่อไป ให้ยื่นคำร้องใหม่ (ข้อ 105)

– การขอลาพักการศึกษา จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อนิสิตได้ลงทะเบียนเรียนมาแล้วอย่างน้อย 1 ภาคการศึกษา เว้นแต่มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ (ข้อ 107)

(1) ถูกเกณฑ์หรือระดมเข้ารับราชการทหารกองประจำการ
– ไม่นับระยะเวลาที่ลาพักอยู่ในระยะเวลาการศึกษา

(2) ไปทำวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ในต่างประเทศ
– ไม่นับระยะเวลาที่ลาพักอยู่ในระยะเวลาการศึกษา ได้ 1 ภาคการศึกษาเท่านั้น ส่วนที่เกินกว่าให้นับอยู่ในระยะเวลาการศึกษา
– เมื่อมีการยกเว้นไม่นับระยะเวลาการศึกษา ให้คณะแจ้งสำนักงานการทะเบียน

(3) เจ็บป่วยจนต้องเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาลเป็นเวลาติดต่อกันเกินกว่า 3 สัปดาห์
– ไม่นับระยะเวลาที่ลาพักอยู่ในระยะเวลาการศึกษา
– ต้องมีใบรับรองแพทย์
– ต้องมีสำเนาใบเสร็จรับเงินที่ระบุค่าห้องพักในสถานพยาบาล

(4) เจ็บป่วยจนต้องพักรักษาตัวเป็นเวลาติดต่อกันเกินกว่า 3 สัปดาห์ตามคำสั่งแพทย์
– ต้องมีใบรับรองแพทย์
– อาจไม่นับอยู่ในระยะเวลาการศึกษาได้ หากคณะกรรมการบริหารบัณฑิตวิทยาลัยพิจารณาเห็นควรอนุมัติ
– เมื่อมีการยกเว้นไม่นับระยะเวลาการศึกษา ให้คณะแจ้งสำนักงานการทะเบียน

(5) ได้รับทุนแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างประเทศ หรือทุนอื่นใดซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของนิสิต
– ไม่นับระยะเวลาที่ลาพักอยู่ในระยะเวลาการศึกษา ได้ 1 ปีการศึกษาเท่านั้น ส่วนที่เกินกว่าให้นับอยู่ในระยะเวลาการศึกษา
– เมื่อมีการยกเว้นไม่นับระยะเวลาการศึกษา ให้คณะแจ้งสำนักงานการทะเบียน

(6) มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอย่างยิ่งทำให้ไม่สามารถศึกษาในภาคการศึกษานั้นได้ โดยต้องมีหลักฐานยืนยันเหตุดังกล่าว
– อาจไม่นับอยู่ในระยะเวลาการศึกษาได้ หากคณะกรรมการบริหารบัณฑิตวิทยาลัยพิจารณาเห็นควรอนุมัติ
– เมื่อมีการยกเว้นไม่นับระยะเวลาการศึกษา ให้คณะแจ้งสำนักงานการทะเบียน